วงชีวิต  (Life Cycle)
        พยาธิเข็มหมุด มีคนเท่านั้นที่เป็นโฮสต์จำเพาะ (definitive host) ตามปกติแล้วพยาธิเข็มหมุดจะอาศัยอยู่ที่ลำไส้บริเวณ cecum และบริเวณลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ ที่อยู่ใกล้เคียงกับ cecum บางครั้งพบพยาธิเข็มหมุดได้ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง และ rectum นอกจากนี้พยาธิเข็มหมุดอาจเคลื่อนไปอยู่บริเวณกระเพาะอาหาร (stomach) หลอดอาหาร (esophagous) และขึ้นไปบริเวณจมูก ได้เช่นกัน พยาธิเข็มหมุดตัวเมียออกไข่ได้ 11,000-15,000 ฟอง โดยจะไปวางไข่ที่บริเวณรอบๆ ทวารหนัก (perianal area) และบริเวณใกล้เคียง (perineal area) ไข่จะออกมาโดยการหดรัดของมดลูก (uterus) และช่องคลอด (vagina) ของพยาธิเข็มหมุด ภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำ และการได้สัมผัสกับอากาศภายนอกร่างกาย (aerobic environment) ไข่จะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ในการเจริญเป็นไข่ระยะติดต่อ เมื่อคนรับประทานไข่ระยะติดต่อเข้าไป ตัวอ่อนระยะที่ 1 (1st stage larva) จะฟักออกที่ลำไส้เล็กบริเวณ duodenum โดยตัวอ่อนจะเจริญเติบโต และมีการลอกคราบ 2 ครั้ง ก่อนที่จะไปสู่ลำไส้เล็กบริเวณ jejunum และ ileum ช่วงต้น  หลังจากนั้นตัวอ่อนจะเจริญต่อเป็นตัวแก่ และจะไปอาศัยอยู่บริเวณ cecum ช่วงเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับไข่ จนกระทั่งพยาธิโตเต็มที่และวางไข่นานกว่า 2-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ได้รับไข่พยาธิเข็มหมุด อาจสามารถหายเองได้ (self-limited) ถ้าไม่ได้รับประทานไข่พยาธิอีก  เนื่องจากตัวเมียมักตายหลังจากออกไข่ที่ทวารหนัก ในขณะที่ตัวผู้มีอายุประมาณ 1-3 สัปดาห์
        ในบางกรณีซึ่งพบได้ไม่บ่อยที่พยาธิอาจทำให้เกิด "autoinfection" ได้ โดยที่ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ที่บริเวณทวารหนัก จะไชเข้าไปในลำไส้ของผู้ที่เป็นโรค และเจริญเติบโตต่อไป โดยทั่วไปไข่ที่ตกค้างอยู่ จะแพร่กระจายได้โดยการเกา ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรับประทานไข่เข้าไปอีก จึงเกิดโรคใหม่ (reinfection) ได้ โดยวิธี hand-to-mouth  นอกจากนี้ไข่ยังอาจปนเปื้อนมาในอาหาร เครื่องดื่ม ผ้าปูที่นอน และฝุ่นละออง คนอาจติดโรคโดยผ่านการหายใจเข้า (inhalation) ได้เช่นกัน