การเปลี่ยนแปลงของจำนวนไข่ (oocyte) ฟอลลิเคิล (follicle) ฮอร์โมน และการมีระด.........
      การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาจากวัยเด็ก  เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และวัยหมดระดู  เป็นการเปลี่ยน
แปลงตามธรรมชาติที่มีความต่อเนื่อง   ค่อยเป็นค่อยไปและสัมพันธ์กับการทำงานของรังไข่  ระยะ เวลาที่รังไข่เริ่มมีการเสื่อมถอยจนเข้าสู่วัยหมดระดู    จะมีการเปลี่ยนแปลงของฟอลลิเคิลฮอร์โมน

และรอบระดูดังนี้คือ

วัยใกล้หมดระดู
     
1. การลดลงของจำนวนไข่และฟอลลิเคิล(3,10)
              รังไข่ของทารกในครรภ์ จะมีการแบ่งตัวของ germ cell และพัฒนาเป็น oogonia ซึ่งจะ

พัฒนาต่อไปเป็นไข่และฟอลลิเคิลในที่สุด  โดยมีจำนวน oogonia สูงสุด 6-7 ล้านเซลล์ เมื่ออายุ

ครรภ์ 16-20 สัปดาห์   จากนั้นจำนวน oogonia จะลดลง โดยพัฒนาต่อไปเหลือเป็นไข่เพียง 1-2

ล้านใบ เมื่อแรกคลอด  และเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จะเหลือไข่เพียง 3-5 แสนใบตลอดระยะวัยเจริญพันธุ์

จะมีการตกไข่เพียง 400-500 ใบ   การสูญเสียฟอลลิเคิลจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระยะ

ของวัยเจริญพันธุ์ อย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่พบว่า การสูญเสียฟอลลิเคิลอย่างรวดเร็ว จะเริ่มใน

ช่วงอายุประมาณ  37 - 38 ปี  เมื่อมีฟอลลิเคิลเหลืออยู่ในรังไข่เพียง 25,000 ใบ  การลดลงของ

ฟอลลิเคิลอย่างรวดเร็ว และความชราภาพของฟอลลิเคิล    ทำให้รังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้น

จากโกนาโดโทรปิน (gonadotropin) ลดลง จึงมีการเปลี่ยนแปลงของรอบระดู  ทำให้มีรอบระดู

ที่ไม่มีการตกไข่มากขึ้น  ความสามารถในการเจริญพันธุ์จึงลดลงในระยะเวลาดังกล่าว

       2. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (3,10)
               การลดลงในจำนวนและความชราภาพของฟอลลิเคิล ทำให้รังไข่ลดการสร้าง  inhibin

ซึ่งมีหน้าที่ยับยั้ง follicle stimulating hormone  (FSH)  ระดับ  FSH ในเลือดจึงเริ่มสูงขึ้น  FSH

ที่สูงขึ้นในระยะแรกอาจกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตของฟอลลิเคิลที่เร็วขึ้น ทำให้ระยะ follicular

ของรอบระดูสั้นลง   สตรีในวัยใกล้หมดระดูจึงอาจมีรอบระดูที่ถี่ขึ้นในช่วงแรก  ระดับเอสโตรเจน

(estrogen)  ในระยะนี้อาจไม่เปลี่ยนแปลงหรือสูงขึ้นเล็กน้อย ขึ้นกับความสามารถของฟอลลิเคิล

ในการตอบสนองต่อ FSH   ระดับของ luteinizing hormone (LH)   ในระยะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อใกล้หมดระดูการตอบสนอง และจำนวนของฟอลลิเคิลลดลงอย่างมาก      รังไข่ไม่ค่อยมีการ

ตกไข่ ช่วงระหว่างรอบระดู เริ่มยืดยาวออก  ระดับเอสตราดิออล (estradiol)   ในกระแสเลือดจะ

ลดลงในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนที่รังไข่จะหยุดทำงาน

       3. การเปลี่ยนแปลงของรอบระดู (3,10)
              จากการลดลงของไข่และฟอลลิเคิล  และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนดังกล่าวข้างต้น

จึงพบว่าสตรีในวัยใกล้หมดระดูมักมีระดูไม่สม่ำเสมอ โดยอาจจะมาเร็วหรือถี่ขึ้นในระยะแรก และ

เริ่มห่างออกจนหายไปในที่สุด        บางรายอาจมีระดูที่ค่อยๆ เลื่อนออกไป มีช่วงระหว่างรอบระดู

ยืดยาวออกจนหมดระดู  มีเพียงร้อยละ 10 ของสตรีที่เข้าสู่วัยหมดระดู    ที่ไม่ปรากฏช่วงเวลาที่มี

ระดูไม่สม่ำเสมอนำมาก่อน

วัยหมดระดู
      
1. การลดลงของไข่และฟอลลิเคิล(3,10)
              ในบุรุษการสร้างอสุจิ  (spermatogenesis)  จะเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ต่างจากสตรีซึ่ง

รังไข่มี oogonia สูงสุดในระยะที่อยู่ในครรภ์มารดา ภายหลังคลอดจะมีแต่การฝ่อ (atresia) ของ

ฟอลลิเคิลจนในที่สุดเหลือ เพียง 100-1,000 ใบในระยะที่กำลังเข้าสู่วัยหมดระดู  และไม่พบเลย

หลังจากนั้น

              การฝ่อของฟอลลิเคิลเป็นกระบวนการที่เกิดจากกลไกที่เรียกว่า apoptosis

(programmed cell death)    เป็นกลไกของร่างกายที่ทำให้เซลล์ตาย  เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งเพื่อ

ควบคุมจำนวนเซลล์บางชนิดในร่างกายให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ        ทั้งนี้มีหลักฐานในสัตว์

ทดลองที่แสดงให้เห็นว่าฟอลลิเคิลในรังไข่ของสัตว์ที่มีอายุมาก       จะเกิด apoptosis มากกว่า

ฟอลลิเคิลของสัตว์ที่ยังมีอายุน้อย 

        2. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
                เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูรังไข่จะสูญเสียฟอลลิเคิลทั้งหมด             ทำให้ไม่สามารถสร้าง

เอสโตรเจนต่อไปได้ แต่รังไข่ยังมีเซลล์ใน stroma ซึ่งสามารถสร้างแอนโดรเจน (androgen) ตาม

การกระตุ้นของโกนาโดโทรปิน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ในกระแสเลือดภายหลัง

เข้าสู่วัยหมดระดู จึงพบได้ดังนี้

             
2.1 Androstenedione
                เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู ระดับ androstenedione ในกระแสเลือดจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง  (ตารางที่ 1)(3,4)  androstenedione ในสตรีวัยหมดระดูสังเคราะห์จากสองแหล่งหลักในร่างกาย

โดยส่วนใหญ่สร้างมาจากต่อมหมวกไต และส่วนน้อยสร้างมาจากรังไข่

 

ตารางที่ 1   การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดในวัยหมดระดู(3,4)
.
วัยเจริญพันธุ์ 
วัยหมดระดู
Androstenedione 60-300 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร 30-150 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร
เทสโตสเตอโรน(testosterone) 20-80 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร 15-70 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร
เอสตราดิออล (estradiol) 40-400 พิโกกรัมต่อมิลลิลิตร 10-20 พิโกกรัมต่อมิลลิลิตร
เอสโตรน (estrone) 30-200 พิโกกรัมต่อมิลลิลิตร 30-70 พิโกกรัมต่อมิลลิลิตร
 
            
2.2 เทสโตสเตอโรน
               เทสโตสเตอโรนในกระแสเลือดจะลดลงเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู  ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่อัตรา

การสร้างเทสโตสเตอโรนจากรังไข่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสตรีในวัยเจริญพันธุ์  การที่รังไข่

สร้าง เทสโตสเตอโรนมากขึ้น เนื่องจากระดับ LH ที่สูงขึ้นกระตุ้นให้เซลล์ stroma   ในรังไข่เกิด

hypertrophy และ hyperplasia จึงทำให้มีการสังเคราะห์เทสโตสเตอโรนได้มากขึ้น ยกเว้นใน

บางรายที่รังไข่เกิดพังผืด (fibrosis) ทำให้เซลล์ในเนื้อเยื่อดังกล่าวไม่ตอบสนองต่อ LH จึงอาจ

ทำให้สร้างเทสโตสเตอโรนได้น้อยลง   การที่ระดับเทสโตสเตอโรนในกระแสเลือดโดยรวมกลับ

ลดลง เป็นผลมาจากการมีระดับ androstenedione ในเลือดลดลง   เนื่องจากส่วนใหญ่ของ

เทสโตสเตอโรนเปลี่ยนมาจาก androstenedione 

            2.3 เอสโตรเจน
              เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู รังไข่ไม่สามารถสังเคราะห์เอสโตรเจนได้โดยตรง ระดับ

เอสโตรเจนในกระแสเลือดจึงลดลง เหลืออยู่ในระดับต่ำ (ตารางที่ 1)  โดยมีระดับเอสโตรนสูงกว่า

เอสตราดิออล    เอสโตรนที่มีอยู่ในกระแสเลือดเปลี่ยนมาจาก androstenedione  และส่วนใหญ่

ของเอสตราดิออลเปลี่ยนแปลงมาจากเอสโตรน ส่วนน้อย (ร้อยละ 0.1) ของเอสตราดิออลเปลี่ยน

มาจาก เทสโตสเตอโรน  ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู รังไข่ไม่สามารถสร้างเอสโตรเจนได้เอง ระดับ

เอสโตรเจนส่วนใหญ่ในกระแสเลือดจึงขึ้นกับระดับของ androstenedione เมื่อระดับ androstenedione ลดลงในสตรีวัยหมดระดู จึงทำให้ระดับของเอสโตรเจนในกระแสเลือดลดลง

ด้วยเช่นกัน

          2.4  โกนาโดโทรปิน (FSH และ LH)
            เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู ระดับ FSH จะเพิ่มสูงขึ้นจากวัยเจริญพันธุ์ได้ 10-20 เท่า ในขณะที่

ระดับ LH เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 3 เท่า โกนาโดโทรปินทั้งสองชนิดจะเพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเข้าสู่วัยหมด

ระดูได้ 1-3 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ   การที่ระดับ FSH เพิ่มขึ้นสูงกว่า LH  เนื่องจาก LH  ถูกกำจัดออกจากร่างกายได้เร็วกว่า FSH   และ LH  ไม่ได้ถูกยับยั้งโดย inhibin  เช่นเดียวกับ

FSH ดังนั้นเมื่อเข้าวัยหมดระดู ฟอลลิเคิลไม่สามารถสร้าง inhibin ได้ จึงทำให้ไม่มีตัวที่คอยยับยั้ง

FSH  จึงเป็นเหตุที่ทำให้ระดับ FSH สูงได้ค่อนข้างมาก โดยทั่วไประดับของ FSH ที่ถือว่ารังไข่หยุด

ทำงาน   (ovarian failure)   และเข้าสู่วัยหมดระดู คือ 30-40 IU ต่อลิตร     อย่างไรก็ตามการให้

ฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดระดูไม่ทำให้ระดับ   FSH   ลดลงจนกลับมาสู่ระดับปกติในวัย

เจริญพันธุ์ เนื่องจากไม่มี inhibin ช่วยยับยั้งดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่สามารถใช้ FSH ในการ

ติดตามการรักษาสตรีที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนได้ (11,12)

       3. การเปลี่ยนแปลงของรอบระดู (3,10)
              จากการฝ่อของฟอลลิเคิลอย่างรวดเร็ว จนไม่พบเลยเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู  ทำให้ระดับ

เอสตราดิออลและเอสโตรนในกระแสเลือดลดลงสู่ระดับต่ำ   ระดูที่เคยมาสม่ำเสมอจึงห่างออก

จนขาดหายไปในที่สุด       การที่สตรีบางรายขาดระดูไปหลายเดือนและกลับมามีระดูใหม่  อาจ

เนื่องจากยังคงมีฟอลลิเคิลหลงเหลืออยู่บ้าง  และสามารถสร้างเอสตราดิออลได้สูงขึ้นชั่วคราว