การได้รับพิษจากสัตว์ขาข้อโดยการรับประทาน
แมงดาทะเล (Horseshoe Crab, King Crab)
รูปที่ 12 Tachypleus gigas
รูปที่ 13 Carcinoscorpius rotundicauda
         แมงดาทะเลมีลักษณะคล้ายแมงมุม แต่แมงดาทะเลมีขา 5 คู่ ส่วนลำตัวโค้งมน คล้ายถ้วย มีเหงือกสำหรับหายใจ และมีอวัยวะคล้ายหางเรียกว่า telson แมงดาทะเลพบกระจายทั่วไปในแถบเอเชีย สำหรับประเทศไทย พบทั้งสองฝั่งของอ่าวไทย ตัวเมีย มีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้  เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ (เดือนกุมภาพันธุ์-กันยายน) ตัวผู้จะเกาะ บนหลังตัวเมียเข้าสู่ชายหาด และตัวเมียจะขุดหลุมและฝังตัววางไข่ในทราย  ซึ่งเรานิยม นำไข่แมงดามาเป็นอาหาร ในประเทศไทยพบแมงดาทะเลอยู่ 2 ชนิด คือ แมงดาจาน (Tachypleus gigas  รูปที่ 12) telson มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ไข่แมงดาชนิดนี้ไม่มีพิษ และแมงดาถ้วย หรือแมงดาไฟ หรือเหรา (Carcinoscorpius rotundicauda  รูปที่ 13) telson มีลักษณะกลม ไข่แมงดาชนิดนี้มีพิษ อาการของการได้รับพิษจะเกิดขึ้นประมาณครึ่งชั่วโมงหลังรับประทานไข่แมงดาชนิดนี้เข้าไป อาการดังกล่าว ได้แก่ ชาบริเวณริมฝีปาก มือและเท้า เวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ แขนขาไม่มีแรง พูดไม่ชัด ถ้าอาการรุนแรงมาก จะมีอัมพาตของกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจ และถึงแก่ความตายได้ เนื่องจากยังไม่มียาแก้พิษ (antidote) ของแมงดาทะเล การดูแลผู้ป่วยจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การล้างกระเพาะผู้ป่วยเพื่อเอาอาหารที่เหลือออก การดูและระบบหายใจ การให้ของเหลวทางหลอดเลือดดำเพื่อเร่งการขับถ่ายพิษ เป็นต้น