บทนำ วัฎจักรของเซลล์และระยะต่างๆ
เซลล์มีการสร้างขึ้นใหม่โดยการแบ่งตัวเองจากหนึ่งเป็นสอง เรียกกระบวนการการแบ่งตัวของเซลล์นี้ว่า “วงจรแห่งการแบ่งตัวของเซลล์” หรือ “วัฏจักรแห่งการแบ่งตัวของเซลล์” “cell-division cycle” การแบ่งตัวในลักษณะนี้ในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (unicellular species) เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ เป็นต้น เป็นการเพิ่มจำนวน ส่วนในสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์หลายเซลล์ (multicellular species) การแบ่งตัวนี้มีความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนและในการเจริญเติบโต และเมื่อสิ่งมีชีวิตนั้นเจริญเต็มที่แล้ว เซลล์จะดำรงอยู่อย่างมีสมดุล กล่าวคือมีการเพิ่มขยายจำนวนของเซลล์เท่าๆ กับจำนวนของเซลล์ที่ตายไป หากความผิดปกติที่เกิดขึ้น มีการเพิ่มขยายจำนวนของเซลล์ลดลง และเกิดขึ้นน้อยกว่ามีการตายของเซลล์ ก็จะเกิดมีการลดจำนวนของเซลล์อย่างผิดปกติ ไม่มีสมดุล และเป็นพยาธิสภาพสำคัญที่เกิดขึ้นการเสื่อมหรือการฝ่อของอวัยวะนั้นๆ หากมีความผิดปกติโดยมีการเพิ่มขยายจำนวนของเซลล์มากเกินกว่ามีการตายของเซลล์เกิดขึ้น ก็จะเกิดมีการเพิ่มขยายจำนวนของเซลล์อย่างผิดปกติไม่มีสมดุล และเป็นพยาธิสภาพสำคัญที่เกิดขึ้นในโรคมะเร็งนั่นเอง กระบวนการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขยายจำนวนของเซลล์นั้นคือ “วงจรชีวิต” หรือ “วัฏจักรของเซลล์” (cell cycle)
ในอดีต วิธีการศึกษา “วงจรชีวิต” หรือ “วัฏจักรของเซลล์” (cell cycle) ทำโดยการใช้กล้องจุลทรรศน์ และเฝ้าติดตามการเพิ่มจำนวนของดีเอ็นเอ (Deoxyribonucleic acid, DNA) โดยการใช้สารกัมมันตรังสี ฉะนั้นความสนใจจึงมุ่งเน้นอยู่ที่โครโมโซม แต่เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้การศึกษาในระดับชีวโมเลกุลเป็นไปได้อย่างไม่ยากเย็นจนเกินไป ฉะนั้นความเข้าใจในเรื่องวัฏจักรของเซลล์ จึงมีความชัดเจนขึ้น โดยทั่วไปเซลล์จะดำรงอยู่ในสถานภาพ 2 สถานภาพคือ สถานภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการแบ่งตัว เรียกว่า “วงจรชีวิต” หรือ “วัฏจักรของเซลล์” (cell cycle) ในแต่ละวงจรจึงมีการเพิ่มจำนวนของเซลล์จากหนึ่งเป็นสอง และสถานภาพที่อยู่เฉยๆ หรืออยู่ในระยะพัก คือสถานภาพที่อยู่เฉยไม่มีการแบ่งตัวที่เรียกว่า “Quiescence stage” หรือ “Resting stage” หรือ “R stage”