เลือดและส่วนประกอบของเลือด (Blood components)
       เม็ดเลือด (Formed Elements)
          เลือดมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเม็ดเลือดรวมทั้งเกร็ดเลือด (formed elements) และส่วนที่เป็น
ของเหลว ที่เรียกพลาสมา (plasma) ส่วนของเม็ดเลือดนั้นมีองค์ประกอบหลักได้แก่ เม็ดเลือดแดง (red blood cells; erythrocytes) เม็ดเลือดขาว (white blood cells; leukocytes) และเกร็ดเลือด (platelets) หากนำเอาเลือดจากคนปกติมาปั่นในหลอดทดลองจะพบว่าส่วนของเม็ดเลือดนั้นจะจมอยู่ที่ส่วนล่างของหลอดทดลอง โดยที่ส่วนที่เป็น
ของเหลวจะอยู่ด้านบนของหลอด สัดส่วนปริมาตรของเม็ดเลือดแดง ที่อัดแน่นกันอยู่ต่อปริมาตรทั้งหมดเรียกฮีมาโตคริต (hematocrit) มักมีค่าประมาณ 40 45%ของปริมาตร เลือดทั้งหมด หมายความว่าในปริมาตรเลือดทั้งหมด 100% จะมีปริมาตรเม็ดเลือดแดงเท่ากับ 40-45% โดยที่ปริมาตรของเม็ดเลือดขาวจะไม่ค่อยอัดแน่นนักเห็นเป็นชั้นบางๆ สีขาวเรียก buffy coat อยู่บนชั้นของเม็ดเลือดแดงอีกที ส่วนที่เหลืออีก 55-60% เป็นส่วนของน้ำเลือด (plasma)
       เม็ดเลือดแดง
       เนื่องจากเม็ดเลือดแดงเป็นเซลล์ที่ไม่มีนิวเคลียสและไม่สามารถแบ่งตัวได้ จึงต้องมีการสร้างขึ้นทดแทนตลอดเวลาจากไขกระดูก (bone marrow) ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า erythropoiesis กระบวนการสร้างนี้ถูกกระตุ้นได้ด้วยฮอร์โมนที่เรียกว่า erythropoietin เม็ดเลือดแดงมีลักษณะรูปร่างคล้ายแผ่นดิสก์ (discs) ที่มีด้านเว้าเข้าหากันทั้งสองด้าน (biconcave) (รูปที่ 6) มีความหนาประมาณ 2.4 mm เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 mm ลักษณะเว้าของผิวเม็ดเลือดแดง ทำให้เพิ่มพื้นที่ผิวช่วยในกระบวนการแพร่ (diffusion) ของสารต่างๆได้ดี สีแดงของเม็ดเลือดเป็นลักษณะเด่นของเม็ดเลือดชนิดนี้เกิดจากสีของฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบหลักถึง 95% ของเม็ดเลือดแดง ซึ่งสามารถรวมกับออกซิเจนเพื่อการขนส่งออกซิเจนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ในผู้ใหญ่ปกติ จะมีเม็ดเลือดแดงอยู่ประมาณ 4.5-6 ล้านเซลล์ ต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตรของเลือด การที่มีเม็ดเลือดแดงมากเกินไปเรียกภาวะ polycythemia เป็นผลเสียด้านความหนืดของเลือดและลดประสิทธิภาพในการขนส่งสาร การที่มีเม็ดเลือดแดงน้อยเกินไปหรือภาวะเลือดจางเรียก anemia (รูปที่ 7) มักพบว่าเป็นความผิดปกติต่อเนื่องมาจากการขาดฮีโมโกลบิน โรคที่พบบ่อยทางพันธุกรรมโดยเฉพาะในคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือโรคธาลัสซีเมีย (thalassemia) มีความผิดปกติของการสร้างฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง มักพบผู้ป่วยมีภาวะซีดร่วมด้วย ซึ่งมีความรุนแรงของโรคหลายระดับ
       เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด
         ในคนปกติทั่วไปจะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวประมาณ 5,000-10,000 เซลล์ต่อเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ภาวะทีมีเม็ดเลือดขาวมากเกินไปเรียก leukocytosis ส่วนภาวะที่ตรงกันข้ามคือมีเม็ดเลือดขาวน้อยเกินไป เรียก leukopenia เม็ดเลือดขาวมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรีย (bacterial infection) กระบวนการทางภูมิคุ้มกัน (immune processes) และกระบวนการต่อต้านและป้องกันของร่างกาย (bodily defense) ส่วนเกร็ดเลือดนั้นมีความสำคัญต่อกระบวนการแข็งตัวของเลือด (blood coagulation) ร่างกายมีเกร็ดเลือดประมาณ 150,000-300,000 ต่อเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร แต่การที่เกร็ดเลือดมีขนาด เล็กมาก (2-3 mm) ทำให้สัดส่วนปริมาตรของเกร็ดเลือดมีค่าน้อยมาก
       น้ำเลือดและองค์ประกอบ (Plasma and Constiuents)
       น้ำเลือดมีสัดส่วนประมาณ 55% ของปริมาตรทั้งหมดของเลือด เป็นส่วนที่เป็นของเหลวในเลือด ประกอบไปด้วย
สิ่งต่างๆ มากมายได้แก่โปรตีน (plasma proteins) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของสิ่งที่อยู่ ในน้ำเลือดที่มีมากที่สุดได้แก่
อัลบูมิน (albumin) นอกจากนี้ยังมี ไนโตรเจน (non-proteins nitrogen) เกลือแร่ (electrolytes) ฮอร์โมน(hormones) เอนไซม์ (enzymes) ก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำเลือด (blood gas) หากนำเอาเลือดออกมาตั้งทิ้งไว้ปล่อยให้มีการแข็งตัวเกิดขึ้น สารน้ำที่แยกชั้นออกมาจากก้อนเลือดที่แข็งตัวจะเรียกว่า ซีรั่ม (serum) ซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายพลาสมา ยกเว้นไม่มี ไฟบริโนเจน (fibrinogen) และสารที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดหลายชนิด พบว่าซีรั่มจะมีค่าซีโรโทนิน (serotonin) สูงกว่าพลาสมาเนื่องจากการกระตุ้นของเกร็ดเลือด ในระหว่างการเกิดลิ่มเลือด