การควบคุมแมลงพาหะ
 การควบคุมแมลงพาหะสามารถแบ่งเป็น 2 แบบคือ
       1. การควบคุมโดยธรรมชาติ (Natural Control)
            
เป็นการปล่อยให้ธรรมชาติเป็นตัวควบคุมแมลงพาหะโดยมนุษย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น อุณหภูมิ ความชื้น
หรือฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้จำนวนแมลงลดลง โรคที่เกิดในแมลง และสัตว์หรือแมลงที่กินแมลง (predator)
       2. การควบคุมแมลงโดยมนุษย์เป็นผู้จัดการ (applied control)
             การควบคุมโดยวิธีนี้เกิดจากมนุษย์ เ
่นการนำสิ่งมีชีวิตอื่นมาควบคุมแมลง (biological control) การปรับสภาพแวดล้อมเพื่อทำให้ไม่เหมาะสมกับการเจริญของแมลง (environmental control)หรือการใช้สารเคมีมาควบคุมแมลง (chemical control) เป็นต้น
            2.1 Biological Control เป็นการใช้สิ่งมีชีวิตอื่นมาควบคุมจำนวนแมลง เช่น
             - เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (Bt) เชื้อ Bacillus sphericus (Bs) มาควบคุมแมลง
เชื้อแบคทีเรีย เหล่านี้เป็นเชื้อที่สร้าง spore และในขณะที่มันสร้าง spore มันจะสร้าง Crystal protein (Cry toxin) ซึ่งมีพิษต่อแมลงขึ้นมา เมื่อแมลงกินแบคทีเรียเหล่านี้เข้าไปมันก็จะได้รับพิษและตาย แต่ Cry toxin นี้ไม่มีผลต่อคนและสัตว์อื่น
             - การใช้สิ่งมีชีวิตที่กินแมลงเช่น ปลาหางนกยูง ลูกน้ำของยุงยักษ์และไรน้ำ (copepod) มากินลูกน้ำยุง

รูปที่ 1 ปลาหางนกยูงนำมาใช้ควบคุมลูกน้ำยุง
            - การใช้หนอนพยาธิบางชนิดเช่น Romanomermis culicivorax ซึ่งเป็นหนอนพยาธิในลูกน้ำยุงซึ่งระยะตัวอ่อนเจริญอยู่ในลูกน้ำยุงและเมื่อมันเจริญเต็มที่แล้วมันจะไชออกจากลูกน้ำทำให้ลูกน้ำตาย

รูปที่ 2 ลูกน้ำยุงที่ติดเชื้อพยาธิ (สังเกตเส้นสีขาวที่ส่วนอก)
            การควบคุมโดยชีววิธีนี้มีข้อดีคือมีความจำเพาะต่อแมลงเป้าหมายที่ต้องการควบคุมไม่ทำลายแลงที่มีประโยชน์หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก แต่ข้อจำกัดของวิธีการนี้คือ เห็นผลช้าและต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะได้ผลดี
           2.2 Environmental Control เป็นการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อทำให้แมลงไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ เช่นการจัดระบบระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขัง การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านเช่น การเปลี่ยนน้ำแจกัน ตุ่มน้ำบ่อยๆการเก็บทำลายแหล่งเพาะนอกบ้านเช่น ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว กระป๋องใส่อาหาร ขวดน้ำ รวมทั้งการปิดภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิดเป็นต้น

รูปที่ 3 แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้าน

รูปที่ 4 แหล่งเพาะพนธุ์ยุงลายรอบๆ บ้าน
           2.3 Physical and Mechanical Control เป็นการควบคุมแมลงโดยใช้เครื่องมือกลหรือแสงหรืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ มาใช้ในการควบคุมแมลง เช่น ใช้แสงสว่างมาล่อให้แมลงเข้ามาใกล้เส้นลวดซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเมื่อแมลงบินมาใกล้จะถูกไฟดูดตาย หรือการใช้อุปกรณ์ที่มีเครื่องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และความร้อนเพื่อล่อให้แมลงบินเข้ามาใกล้แล้วมีพัดลมดูดให้แมลงเข้าไปอยู่ในถุง จากนั้นจึงนำแมลงไปทำลายเป็นต้น
          2.4 Chemical control เป็นการใช้สารเคมีมาควบคุมแมลงซึ่งสารเคมีที่นำมาใช้สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
                 2.4.1 สารอนินทรีย์ (Inorganic insecticides) เช่นสารหนู zinc phosphate เป็นต้น ปัจจุบันมีการใช้สารกลุ่มนี้น้อยลง เนื่องจากความเป็นพิษของมัน
                 2.4.2 สารอินทรีย์ (Organic insecticides) เป็นสารกำจัดแมลงที่เป็นสารอินทรีย์ซึ่งมีทั้งที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติและที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมา สารกลุ่มนี้สามารถแบ่งเป็น 4 ชนิดคือ
                 - Organochlorines เป็นสารสังเคราะห์กลุ่มแรกที่นำมาควบคุมแมลงโดยมีฤทธิ์ขัดขวางการเข้าออกของ Na+ ที่เซลล์ประสาท สารชนิดแรกที่สังเคราะห์ขึ้นมาคือ DDT ซึ่งมีการสังเคราะห์ขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนำมาใช้ควบคุมเหาลำตัว (body louse) ซึ่งเป็นพาหะนำโรค epidemic typhus ที่ระบาดมากในทหาร เนื่องจากเหาลำตัวแพร่กระจายโดยการใช้เสื้อผ้าร่วมกันจึงมีการนำ DDT มากำจัดเหาลำตัวในเสื้อผ้า ต่อมาได้มีการนำมาใช้ควบคุมแมลงวันและยุง เนื่องจาก DDT มีฤทธิ์ตกค้างนานและสามารถทำลายแมลงได้หลากหลายชนิดจึงมีการนำมาใช้กัน อย่างกว้างขวาง หลังจากการใช้ DDT ประมาณ 30 ปีมีการพบแมลงที่ดื้อต่อ DDT นอกจากนี้ยังพบว่า DDT มีการตกค้างอยู่ในพืชและสิ่งมีชีวิตต่างๆในห่วงโซ่อาหารซึ่งคนสามารถรับ DDT ได้จากการกินอาหารที่มี DDT อยู่ ต่อมา WHO ได้มีนโยบายในการทำลาย DDT และเลิกการใช้ DDT ทั่วโลก สารกำจัดแมลงในกลุ่มนี้เช่น dieldrin, lindane และ chlordane เป็นต้น
               - Organophosphates เป็นสารกำจัดแมลงที่สังเคราะห์ขึ้นมาหลังจากที่มีปัญหาจากการใช้ DDT สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ต่อระบบประสาททุกระบบคือ muscarinic, nicotinic และ CNS จึงอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า systemic insecticides โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ acetlycholinesterase ที่ปลายประสาททำให้มีการเพิ่มขึ้นของ acetylchlorine สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็วและรุนแรงแต่สลายตัวเร็ว สารในกลุ่มนี้เช่น parathion, malathion และ diazinon เป็นต้น
              - Carbamates เป็นสารที่ออกฤทธิ์เหมือน organophosphates คือยับยั้งการทำงานของอ็นไซม์ acetlycholinesterase แต่มีฤทธิ์น้อยและสลายตัวเร็วกว่า organophosphates สารกลุ่มนี้เช่น propoxur, bendicarb และ methomyl
              - Pyrethroids เดิมเป็นสารสกัดที่ได้จากดอก pyrethrum และเรียกสารสกัดนี้ว่า pyrethrin ต่อมาได้มีการสังเคราะห์เลียนแบบ pyrethrin ขึ้นมาเรียกว่า pyrethroids สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับสารในกลุ่ม organochlorines แต่มีฤทธิ์น้อยและสลายตัวเร็วกว่ามากจึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ในบ้านเรือน

รูปที่ 5 ลักษณะของดอก pyrethrum
              - สารกลุ่มอื่นๆ เช่นฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง (insect growth regulators; IGRs) เช่น juvenile hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญของแมลงเมื่อนำมาใช้กับแมลงทำให้มันไม่สามารถลอกคราบได้และตายในเวลาต่อมา สารกลุ่มนี้ที่นำมาใช้ในการควบคุมแมลงตัวแรกคือ methoprene นอกจากนี้ยังมีสารสกัดจากพืชที่มีการนำมาใช้ในการควบคุมแมลงเช่นสะเดา ยูคาลิปตัส เป็นต้น
      2.5 Genetic control เป็นการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของแมลง ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 แบบคือ
             2.5.1 Sterile release เป็นการทำให้แมลงเป็นหมันแล้วปล่อยแมลงที่เป็นหมันนี้ไปแย่งผสมพันธุ์กับแมลงในธรรมชาติ วิธีการนี้เหมาะที่จะใช้กับแมลงที่ผสมพันธุ์ครั้งเดียวเช่นยุงตัวเมียจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดชีวิตของมัน วิธีการนี้มีข้อจำกัดคือพื้นที่ๆจะใช้วิธีนี้ต้องเป็นพื้นที่ๆแยกจากพื้นที่อื่นอย่างชัดเจน เช่นเกาะหรือที่ๆมีภูเขาล้อมรอบเพื่อป้องกันแมลงจากแหล่งอื่นบินเข้ามา วิธีนี้ต้องปล่อยแมลงที่เป็นหมันเป็นระยะๆเพื่อลดจำนวนแมลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นจะต้องมีโรงงานที่สามารถผลิตแมลงเป็นหมันได้มากพอซึ่งต้องใช้ทุนสูงและต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญเพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ
             2.5.2 Genetic manipulation of vector เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมของแมลงให้แมลงมีความต้านทานต่อเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเจริญในตัวแมลงได้ดังนั้นจึงลดความเป็นพาหะของแมลงลง เมื่อสร้างแมลงสายพันธุ์ใหม่ที่มีต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ขึ้นมาแล้วปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อกระจายลักษณะทางพันธุกรรมดังกล่าวจะช่วยลดการกระจายของโรคลงได้

รูปที่ 6
ยุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมโดยใส่ยีนที่ให้แสงสีเขียวของแมงกะพรุน (สังเกตที่ตายุง)
      2.6 Integrated control เนื่องจากการควบคุมแมลงแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน วิธีนี้เป็นการนำหลายๆวิธีมาประกอบกันเพื่อใช้ในการควบคุมโรค ซึ่งการเลือกแต่ละวิธีในการควบคุมแมลงจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ เช่น สถานการณ์ของโรคในขณะนั้น ข้อดีข้อเสีย เงินทุน การยอมรับของคนในชุมชน เป็นต้น ตัวอย่างเช่นการควบคุมยุงลายซึ่งเป็นยุงที่อาศัยในบ้าน การนำสารกำจัดแมลงไปฉีดพ่นในบ้านอาจเกิดผลเสียต่อผู้อาศัยอยู่และอาจไม่ได้รับความร่วมมือท่าที่ควร การให้ความรู้แก่คนในชุมชนและการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามหากเกิดการระบาดของโรคขึ้น การทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงซึ่งเป็นการกำจัดลูกน้ำยุงจึงไม่ทันการณ์ ดังนั้นอาจจำเป็นต้องเลือกใช้การกำจัดยุงพาหะโดยการฉีดพ่นสารกำจัดแมลงแทนเป็นต้น