วิธีการเจาะสารน้ำในช่องปอด
อุปกรณ์ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ควรอยู่ใน set เดียวกัน
1. ผ้าเจาะช่องตรงกลางไร้เชื้อ
2. ก๊อซจำนวน 5-10 แผ่น และสำลี
3. น้ำยาฆ่าเชื้อทาผิวหนัง เช่น Betadine
4. ยาชาเฉพาะที่ 1%Lidocaine , Heparin และ Formalin 40%
5. กระบอกฉีดยาขนาด 10 มล 20 มล และขนาด 50 มล ชนิดหัวล็อค 1-2 กระบอก
6. เข็มฉีดยาเบอร์ 18, 20, 24 ยาว 1.5 นิ้ว เบอร์ 25 ยาว 0.5 นิ้ว
7. เข็มเจาะยาว 3 นิ้ว เบอร์ 17-20
8. เข็มตัดเยื่อหุ้มปอดอาจเป็นชนิด Abram หรือ Cope
9. Three-way stopcock พร้อมท่อระบาย
10. ขวดเก็บตัวอย่างสารน้ำ และเยื่อหุ้มปอดขนาด 5-10 มล
11. ขวดเก็บสารน้ำขนาด 500-1000 มล
12. คีม Forcep และ Hemostat
13. มีดปลายแหลมเบอร์ 11
14. พลาสเตอร์หรือ elastic bandage
วิธีการทำ Thoracocentesis
1. เตรียมท่าและให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วย ท่าที่จะเจาะควรเจาะท่านั่งตัวตรงยกแขนทั้งสองข้างกอดหมอน แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยนั่งไม่ได้ก็อาจจะเจาะในท่านอนหงายครึ่งนั่งครึ่งนอน หรือนอนหงายยกศีรษะสูงและยกแขนสูง ถ้าหากมีสารน้ำในปริมาณมาก
2. ตำแหน่งที่เจาะ ตรวจร่างกายในท่าที่จะทำการเจาะอีกครั้ง โดยทั่วไปมักเลือกตำแหน่งที่ฟังเสียงได้ทึบที่สุด คือมีสารน้ำตรงไหนก็ให้เจาะตรงนั้น ในกรณีเป็น free fluid นิยมเจาะที่ช่องซี่โครงที่ 7-8 แนวกระดูกสะบัก (scapular) หรือ แนวกลางระหว่าง midline กับ posterior axillary line คือช่องซี่โครงที่ต่ำกว่ามุมล่างของกระดูกสะบัก หนึ่งช่อง ถ้าอยู่ในท่านอนให้เจาะระดับช่องที่ 5-6 mid axillary line หรือ posterior axillary line โดยทำเครื่องหมายตรงตำแหน่งที่จะเจาะด้วยหมึกสีหรือกดบุ๋ม มิฉะนั้นเมื่อทายาและปูผ้าแล้วอาจจะจำตำแหน่งที่เจาะไม่ได้
3. พึงจำไว้ว่า ให้เจาะที่ขอบบนของกระดูกซี่โครงอันล่างเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับเส้นเลือดและเส้นประสาทที่อยู่ในร่องขอบล่างของกระดูกซี่โครง
4. ใช้สำลีทายาฆ่าเชื้อให้เป็นบริเวณกว้าง ปูผ้าเจาะกลาง
5. ใช้กระบอกฉีดยาขนาด 10 มล ดูดยาชา 5 - 10 มล โดยใช้เข็มเบอร์ 18 แล้วเปลี่ยนเข็มเป็นเบอร์ 25 ฉีดยาชาทำให้เป็นตุ่มในผิวหนัง (intradermal) ตรงศูนย์กลางของตำแหน่งที่จะเจาะ แล้วเปลี่ยนเข็มเป็นเบอร์ 24 แทงตั้งฉากเข้าไป ก่อนฉีดยาชาจะต้องดูดดูก่อนเสมอว่าได้เลือดหรือไม่เพื่อจะได้ไม่ฉีดยาชาเข้าเส้นเลือด แทงเข็มลงไปเรื่อยๆ ถ้าดูดได้น้ำแสดงว่าเข็มลึกเกินไป ให้ถอยเข็มออกมาเล็กน้อยและฉีดยาชาบริเวณเยื่อหุ้มปอดให้มากเพราะเป็นตำแหน่งที่เจ็บที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่ตัดเยื่อหุ้มปอดควรฉีดยาชาอย่างน้อย 10 มล แต่ถ้าจะเจาะน้ำตรวจอย่างเดียวฉีดยาชาเพียง 5 มล ก็พอ
6. ในกรณีที่ต้องการตรวจหา pH, PCO2 นำกระบอกฉีดยาขนาด 10-20 มล. กับเข็มเบอร์ 20 ดูด heparin กลั้วกระบอกฉีดยาให้ทั่วแล้วฉีดทิ้งออกไป อย่าให้มากเกินไปเพราะจะทำให้ค่า pH ของสารน้ำกลายเป็นกรดได้ แล้วใช้ดูดสารน้ำในบริเวณตำแหน่งที่ฉีดยาชานั้นโดยระวังอย่าให้อากาศเข้าแล้วรีบนำไปส่งตรวจทันที
7. ใช้กระบอกฉีดยา 20 มลกับเข็มเบอร์ 20 เจาะโดยหลีกเลี่ยงรูของเข็มยาชา เพื่อไม่ให้เลือดเข้ามาปนซึ่งอาจจะมีผลต่อการนับเซลล์ของสารน้ำได้ ส่งตรวจความถ่วงจำเพาะ ใส่ขวดแล้วหยดเฮพาริน 2-3 หยดเพื่อหาค่าโปรตีน ใส่ขวดที่มี EDTA เพื่อส่งตรวจนับเซลล์ ขวดที่มี NaF เพื่อส่งตรวจหาระดับน้ำตาล ในกรณีส่งตรวจหาเซลล์มะเร็งส่งสารน้ำใส่ขวดขนาด 250-300 มล