ปัจจัยที่มีผลต่อความต้านทาน
ปัจจัยหลายประการมีผลต่อความต้านทานของเลือด โดยส่งผลต่อองค์ประกอบหลักของความต้านทานที่กล่าวข้างต้น และสามารถส่งผลต่อปริมาตรการไหลของเลือดได้ ปัจจัยดังกล่าวที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ ขนาดของหลอดเลือด และ ความหนืดของเลือด
8.1 ขนาดของหลอดเลือด
ประมาณสองในสามของความต้านทานในหลอดเลือดส่วนกาย จะอยู่ที่หลอดเลือด arterioles การทำงานของกล้ามเนื้อในชั้นผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือด arterioles สามารถหดตัวเล็กลงได้ถึง 4 เท่า จึงส่งผลให้ความต้านทานเพิ่มขึ้นและปริมาตรการไหลลดลงได้ ถึง 256 เท่า ขนาดของหลอดเลือดสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากปริมาตรของของเหลวในหลอดเลือดและที่สำคัญคือจากการทำงานของระบบประสาทออโตโนมิก
8.2 ความหนืดของเลือด
ความหนืด (viscosity) มีผลต่อปริมาตรการไหลของเลือด โดยปกติแล้วเลือดจะมีความหนืดประมาณ 3.6 เท่าของความหนืดของน้ำ ส่วนของพลาสมาจะมีความหนืดประมาณ 1.3 เท่าของความหนืดของน้ำ ของเหลวที่มีความหนืดต่ำกว่าจะไหลไปตามท่อได้ง่ายกว่าของเหลวที่มีความหนืดสูงกว่า ดังในสมการจากกฎของ Poiseuille จะเห็นว่าความหนืดเป็นปัจจัยสำคัญและมีความสัมพันธ์แปรผกผันกับปริมาตรการไหลของเลือด
เม็ดเลือดต่างๆ ที่อยู่ในกระแสเลือดเป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดแรงเสียดทานขึ้นระหว่างเม็ดเลือดด้วยกันเอง และระหว่างเม็ดเลือดกับผนังหลอดเลือด ดังนั้นปริมาณเม็ดเลือดแดงซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในเลือดจึงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อความหนืดของเลือด ค่าสัดส่วนของเม็ดเลือดต่อปริมาตรเลือดเรียกว่า ฮีมาโทคริต (hematocrit) ค่าฮีมาโทคริตเป็นตัวชี้บ่งที่สำคัญที่สุดของความหนืดของเลือด ยิ่งฮีมาโทคริตมีค่าสูงความหนืดของเลือดจะยิ่งสูงตามไปด้วย ดังในกรณีของผู้ป่วยที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงสูงมากผิดปกติ ที่เรียกว่า polycythemia หรือในผู้ที่เป็นมะเร็งของเม็ดเลือดขาว (leukemia) ผู้ป่วนนี้จะมีปัญหาเลือดหนืดมาก ในกรณีนี้มักพบว่ามีการเพิ่มของความต้านทานในหลอดเลือดทั้ง systemic และ pulmonary จึงพบว่ามีการเพิ่มของความดันเลือดได้ ในคนที่มีค่าฮีมาโทคริตต่ำเช่นในกรณีของภาวะซีด (anemia) จะมีความหนืดและความต้านทานการไหลของเลือดลดต่ำลง ดังนั้นจึงพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของ cardiac output ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างความหนืดและและค่าฮีมาโทคริต มีลักษณะ exponential ดังรูป (รูป)
อุณหภูมิสามารถส่งผลกระทบต่อความหนืดได้เช่นกัน ในทุกๆ 1 องศาเซลเซียลที่ลดลง ค่าความหนืดจะเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 2 เมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นระยะเวลานาน ร่างกายส่วนปลายเช่นปลายมือปลายเท้ามีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากความเย็นที่เรียกว่า frostbite ได้ เนื่องจากการลดลงของปริมาตรเลือดที่มาเลี้ยงปลายมือปลายเท้าซึ่งเป็นผลจากทั้งการเกิดการหดตัวของหลอดเลือดร่วมกับการการเพิ่มความหนืดของเลือดจึงมีการเพิ่มความต้านทานการไหลของเลือดได้มาก นอกจากานี้ภาวะ frostbite ยังส่งผลให้เนื้อเยื่อได้รับอันตรายได้จากการขาดออกซิเจนเพราะเม็ดเลือดแดงปลดปล่อยออกซิเจนให้เนื้อเยื่อได้ลดลงในภาวะอุณหภูมิต่ำ