ความสัมพันธ์ระหว่างความดัน ปริมาตรการไหล และความต้านทานการไหล
1. ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาตรการไหลของเลือด
แม้ว่าร่างกายสามารถควบคุมปริมาตรการไหล ปริมาตรเลือดที่ออกจากหัวใจ และความดัน เลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การที่เลือดจะไหลผ่านหลอดเลือดได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลักๆ 2 ประการ ได้แก่ ความแตกต่างของความดัน (Pressure difference; Pressure gradient) และ ความต้านทาน (Resistance)
1.1 ความแตกต่างของความดัน (Pressure difference; Pressure gradient)
ปริมาตรการไหลของเลือดขึ้นกับความแตกต่างระหว่างความดันของปลาย 2 ด้านของหลอดเลือด ซึ่งเป็นเสมือนแรงขับเคลื่อนดันให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดไปได้ ดังนั้นเมื่อความดันในหลอดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ก็จะมีผลไปเพิ่มปริมาตรการไหลของเลือดด้วย โดยกลไก 2 ประการ คือ เพิ่มแรงขับเคลื่อนและเพิ่มการโป่งขยายหลอดเลือด ซึ่งทำให้ความต้านทานหลอดเลือดลดลง
ปริมาตรการไหลของเลือดมีการเปลี่ยนแปลงได้มาก อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงแรงขับเคลื่อนโดยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงขนาดหลอดเลือด และการเปลี่ยนแปลงความดันเลือด ซึ่งทำได้จากการเพิ่มหรือลดการกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก หากมีการกระตุ้นซิมพาเทติกมากเกินไป จะทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัวอย่างมาก จนส่งผลให้ปริมาตรการไหลของเลือดลดลง อย่างมาก หรือไม่มีเลือดไหลผ่านหลอดเลือดเลย แม้ว่าความดันเลือดจะเพิ่มขึ้นไปอย่างมากก็ตาม
1.2 ความต้านทาน (Resistance)
ภายในหลอดเลือดมีความต้านทานอยู่ เกิดจากแรงเสียดทานภายในหลอดเลือด ซึ่งคอยต้านการไหลของเลือด มีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อความต้านทานการไหลของเลือด โดยที่มีผลมากคือความหนืดของเลือด หากเลือดมีความหนืดมาก จะส่งผลให้ความต้านทานการไหลเพิ่มมากขึ้น และปริมาตรการไหลลดลงได้ นอกจากนี้ขนาดและความยาวของท่อก็มีผลเช่นกัน ความยาวหลอดเลือดโดยรวมทั่วร่างกายไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในสภาวะหนึ่งๆ เนื่องจากระบบไหลเวียนเป็นระบบปิด หลอดเลือดมีความยาวโดยรวมค่อนข้างคงที่ อย่างไรก็ตามขนาดของหลอดเลือดด้านภาคตัดขวางสามารถเปลี่ยนแปลงได้มาก เช่น เมื่อมีการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติกอย่างแรง ทำให้หลอดเลือดในระบบทางเดินอาหารหดตัวได้มาก ปริมาตรการไหลของเลือดผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหารจึงลดลงได้มากเช่นกัน
2. กราฟของความดัน-ปริมาตรการไหล (Pressure-Flow Curves)