พันธุกรรม
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค มีผลต่อการดำเนินโรค และความรุนแรงของโรค พบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงขึ้น หากมีประวัติบิดาหรือมารดาป่วยเป็นโรค และอุบัติการณ์สูงถึงร้อยละ 50 หากทั้งบิดาและมารดาป่วยเป็นโรค สำหรับอุบัติการณ์การเกิดโรคในฝาแฝด (concordance rate) พบว่าในแฝดไข่ใบเดียวกัน (monozygotic twins) สูงถึงร้อยละ 35-91 แต่ในฝาแฝดไข่คนละใบ อุบัติการณ์ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 12-30 ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโรคสะเก็ดเงินถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบใด แต่พบว่ามียีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหลายยีน (multi-locus model) จากการศึกษา pedigree ของผู้ป่วยหลายรายงานทำให้เชื่อว่า โรคสะเก็ดเงินถ่ายทอดแบบเด่น แต่ลดการแสดงออก (autosomal dominant transmission with reduced penetrance) อย่างไรก็ดี บางรายงานเชื่อว่าการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นแบบด้อย (recessive) การศึกษาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่พบว่าพันธุกรรมมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคในผู้ป่วยที่เริ่มเกิดโรคเมื่ออายุน้อย (early onset) มากกว่าผู้ป่วยที่เริ่มเกิดโรคเมื่ออายุมาก (late onset)
การศึกษาเพื่อหายีนบนตำแหน่งต่างๆ ของโครโมโซม ที่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค พบว่า มียีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคและการดำเนินของโรคสะเก็ดเงินหลายตัว เช่น ยีนที่มีตำแหน่งของยีนอยู่บนโครโมโซมที่ 17q, 6p, 1q, 3p, 4q, 16q, 19p, 20p มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคและการดำเนินของโรค (ดังแสดงในตารางที่ 2) และยังพบว่ายีนที่อยู่บนโครโมโซมตำแหน่งที่ 6p21 กับ 1q21 มีความสัมพันธ์แบบส่งเสริมกัน (synergistic effect) ในการเกิดโรคอีกด้วย
ตารางที่ 2 แสดงรายงานความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งของยีนบนโครโมโซมที่สัมพันธ์กับโรคสะเก็ดเงิน
Locus symbol
Chromosome region
Candidate Gene
PSORS 1 6p21 Corneodesmosin (CDSNgene), HCR,
HLA class I
PSORS 2 17q24-25 Immunoglobulin super family gene cluster, SLC9A3R1,NAT9
PSORS3 4p  
PSORS4 1q21-q23 Epidermal differentiation complex gene cluster
PSORS5 3q21 SLC12A8
PSORS6 19p13-q13 KIR
PSORS7 1p35-p34  
  16q12-13  
  20p  
  1q31-32 IL-10
PSOR9 4q31  
Note: SLC9A3R1, solute carrier family 9 isoform3 regulatory factor 1; SLC12A8, solute carrier family 12 isoform 8; NAT9, N-acetyl-transferase super family
ยีนที่มีการศึกษามากคือ human leukocyte antigen (HLA) ซึ่งเป็นยีนที่อยู่บนโครโมโซมตำแหน่งที่ 6p21 พบว่า HLA โดยเฉพาะ class-I ได้แก่ HLA-13, -B57, -Cw6 และ HLA-DR7 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคในผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคเมื่ออายุน้อย (type I , early onset) และ HLA-Cw6 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมากที่สุด โดยพบ HLA-Cw6 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคในเกือบทุกชนชาติ ในชาวผิวขาวพบ HLA-Cw6 ถึงร้อยละ85.3 ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่เริ่มเป็นโรคเมื่ออายุน้อย สำหรับประเทศไทย มีรายงานว่าพบ HLA-Cw6 เพียงร้อยละ17 ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่เริ่มเป็นโรคเมื่ออายุน้อย
จากการศึกษาถึง haplotype ของยีน HLA ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคเมื่ออายุน้อย (type I , early onset) ในชาวไทยพบว่า haplotype ที่สัมพันธ์กับโรค คือ HLA-A1, -B57, Cw*0602, -DRB1*0701, -DQA1*0201, -DQB1*0303(AH57.1) และ HLA-A2, -B46, Cw*0602, -DRB1*0901, -DGA1*0301, -DQB1*0303(AH46.1)
สำหรับการศึกษายีน HLA ในผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคเมื่ออายุมาก (type II, late onset) นั้น การศึกษาหลายรายงานไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนนักระหว่างยีน HLA กับการเกิดโรคในผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคเมื่ออายุมาก (late onset) อย่างไรก็ตามมีรายงานในชาว Caucasian ว่า HLA-B27, -B44,-Cw2,-Cw5 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคในผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคเมื่ออายุมาก (late onset) ในขณะที่ผู้ป่วยไทยมีรายงานสัมพันธ์กับ HLA-A*0207, -A*30, -Cw*01, -DRB1*1401
มีรายงานการศึกษายีนอื่นๆ ที่น่าจะก่อให้เกิดโรคอีกหลายรายงานพบว่า CDSN ยีน( Sgene)ซึ่งมีตำแหน่งที่ใกล้กับ HLA-C ทำหน้าที่ควบคุมโปรตีน corneodesmosin ซึ่งเกี่ยวข้องกับ differentiation ของ epidermal keratinocyte มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยสะเก็ดเงินที่มี HLA-Cw6 และยังพบยีนที่อาจเกี่ยวข้องอีกคือ HCR (a helix coiled coil rod homologue) ซึ่งเป็นยีนที่อยู่ระหว่าง HLA-C และ ยีน CDSN โดยพบ HCR protein เพิ่มขึ้นในผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
นอกจากนี้ยังมีรายงานความผิดปกติของยีนซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนของเซลผิวหนัง ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน 4 ตัวคือ ยีนที่ควบคุม
1. connexin (gap junction protein)
2. squamous cell carcinoma antigen1 (SCCA-1)( serine proteinase inhibitor)
3. mitochondrial nicotine adenine dehydrogenase subunit 5
4. mitochondrial nicotine adenine dehydrogenase subunit 6
และในปี 2003 ยังพบยีนที่มีความสัมพันธ์กับโรคสะเก็ดเงินอีกหลายตัว เช่น immoglobulin super family gene, ยีนที่อยู่ระหว่างSLC9A3R1(soluble carrier family) กับ NAT9 (N-acetyl-transferase superfamily) ซึ่งยีนเหล่านี้อยู่บนตำแหน่งของโครโมโซม17q25 โดย SLC9A3R1 เป็นยีนที่ควบคุมT cell (negative regulator of T cell activation) ซึ่งพบได้ในชั้นบนสุดของ stratum malpighi และ granular layer
แม้ในปัจจุบันสามารถสรุปได้ชัดเจนว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่ความหลากหลายของผิดปกติทางพันธุกรรม ยีนที่เกี่ยวข้องและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดหรือการดำเนินของโรคยังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก ยังคงต่อการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
[ Top ]
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย