Family Muscidae < Calypterate < Division Cyclorrhapha < Classification
Family Muscidae
พบทั่วโลกมากกว่า 3900 species แต่มีไม่มากที่มีความสำคัญทางการแพทย์ แมลงในแฟมิลีนี้แบ่งออกเป็น 7 subfamily แต่มีเพียง 3 subfamily เท่านั้น ที่มีความสำคัญทางการแพทย์ คือ Muscinae, Stomoxinae, Fanniinae
แมลงใน family นี้ยังสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามความสัมพันธ์กับคนและสัตว์เลี้ยง (วัว ควาย) คือ
1. Synanthropic หมายถึง แมลงที่หากินใกล้ชิดกับคนดังที่กล่าวมาแล้ว แมลงในกลุ่มนี้ เช่น แมลงวันบ้าน
2. Hemisynanthropes หมายถึง แมลงที่จะเกี่ยวข้องกับคนก็ต่อเมื่อคนเข้าไปในแหล่งที่อยู่อาศัยของมัน แมลงกลุ่มนี้ เช่น Hydrotaea irritans
3. Synbovines หมายถึง แมลงที่อาศัยใกล้ชิดกับวัว ควาย แมลงในกลุ่มนี้ เช่น Stomoxy calcitrans ซึ่งอาศัยใกล้ชิดกับแมลงในคอก และ Haematobia irritans exigua อาศัยใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงในทุ่งนา
Subfamily Muscinae
แมลงวันบ้าน (Musca domestica : house fly)
พบได้ทั่วโลกและเป็นแมลงวันที่พบมากที่สุดในประเทศไทย ขนาดลำตัวยาว 6-9 มม. ลำตัวสีเทาเข้ม ที่อกมีเส้นสีดำพาดตามยาว 4 เส้น เส้นปีเส้น V4 โค้งขึ้นหาเส้น V3 ตาสีน้ำตาลปนแดง ตาแยกออกจากกันทั้งในตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวเมียแยกออกจากกันมากกว่าตัวผู้ ปากเป็นแบบ sponging mouth part
รูปที่ 1 แสดงลักษณะของแมลงวันบ้านตัวเต็มวัย
วงจรชีวิต
ตัวเมียวางไข่ตามกองขยะหรือสิ่งปฏิกูล ไข่มีสีขาวขนาดประมาณ 1.20 X 0.25 ม.ม.ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 18-24 ชั่วโมง ตัวอ่อนมีสีครีม ส่วนหัวมีขนาดเล็ก ส่วนท้ายป้าน ซึ่งเราเรียกลักษณะตัวอ่อนแมลงวันแบบนี้ว่า maggot ตัวอ่อนมี 12 ปล้องโดยปล้องแรกเป็นหัวซึ่งมีตะขอ (hooklet) ที่ยืดหดได้ ใช้ในการกินอาหารและเคลื่อนไหว ส่วนหัวสามารถหดเข้าไปในส่วนอกได้ โครงสร้างของส่วนหัวและ pharynx เป็นอวัยวะสีเข้มเรียกว่า cephalopharyngeal sclerite ตัวอ่อนดูดกินสิ่งปฏิกูลเป็นอาหาร และหายใจผ่านท่อหายใจซึ่งมีอยู่ทางด้านหน้า (anterior spiracle) และด้านท้าย (posterior spiracle) เมื่อตัวอ่อนระยะที่ 3 โตเต็มที่แล้วก็เข้าสู่ระยะดักแด้ โดยมีการสร้างเปลือกมาหุ้มตัวอ่อนระยะที่ 3 นี้ไว้ (puparium) ดักแด้มีสีน้ำตาลแก่หรือดำ ปัจจัยที่ผลต่อระยะเวลาที่ตัวอ่อนเจริญเป็นดักแด้ได้แก่ ปริมาณอาหาร ความชื้น และอุณหภูมิ โดยเฉพาะอุณหภูมิมีความสำคัญมาก ที่อุณหภูมิ 25oC ตัวอ่อนสามารถเจริญเป็นดักแด้ได้ภายใน 3-4 วัน แต่ที่อุณหภูมิ 15oC ตัวอ่อนจะใช้เวลาในการเจริญเป็นดักแด้ถึง 40 วัน แมลงวันจะอยู่ในระยะดักแด้ประมาณ 5 วัน จึงออกจากดักแด้ ตัวเต็มวัยที่ออกจากดักแด้ใหม่ๆ จะบินขึ้นด้านบน (negatively geotropic) และเกาะอยู่บริเวณที่ไม่มีแสง (negatively phototropic) เพื่อรอให้ผิวชั้นนอก (cuticle) แข็งตัว ประมาณ 18-36 ชั่วโมง หลังออกจากดักแด้ตัวเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์ โดยแมลงวันจะมีการปล่อย pheromone เพื่อล่อเพศตรงข้ามให้เข้ามาผสมพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่โดยมีสารต่างๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย หรือกลิ่นจากแหล่งปฏิกูลจะดึงดูดให้ตัวเมียไปวางไข่ โดยปกติตัวเต็มวัยจะกินอาหารบริเวณเดียวกับที่ตัวอ่อนเจริญ แต่ตัวเต็มวัยอาจถูกดึงดูดจากอาหารแหล่งอื่น เช่น กลิ่นดอกไม้ น้ำหวานหรือน้ำตาล เนื่องจากปากของแมลงวันเป็นแบบซับดูด (sponging type) อาหารเหลวจะถูกดูดเข้าไปโดยแรง capillary ส่วนอาหารแข็งจะถูกละลายโดยน้ำลายก่อนที่จะถูกดูดกิน ตัวเต็มวัยมีอายุไขประมาณ 2-4 สัปดาห์ ตัวเมียวางไข่ครั้งละประมาณ 120 ฟองและตลอดชีวิตของมันวางไข่ 4-6 ครั้ง
ความสำคัญทางการแพทย์
1.แมลงวันบ้านเป็น mechanical transmitter ที่สำคัญ มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสามารถแยกเชื้อโรคจากแมลงวันได้มากกว่า 100 ชนิด และพบว่ามี 65 ชนิดที่แมลงวันเป็นพาหะ ซึ่งมีทั้งเชื้อไวรัส โปรโตซัว แบคทีเรียและ ไข่หนอนพยาธิ เช่น polio, hepatitis, Salmonella, Shigella, Escherichia coli, Entamoeba histolytica, ไข่ของ Trichuris เป็นต้น
2. หนอนแมลงวันสามารทำให้เกิด myiasis ได้ ซึ่งอาจจะเกิดโดยบังเอิญ เช่น กินอาหารที่มีไข่หรือหนอนแมลงวันเข้าไปโดยบังเอิญ แล้วไข่หรือตัวอ่อนดังกล่าว ไปเจริญต่อในลำไส้ หรือแมลงวันไปวางไข่บนแผลของผู้ป่วยที่ไม่ได้สติหรือผู้ป่วยซึ่งมีความพิการทางสมอง
การควบคุม
1. การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ เช่นการใช้ห้องส้วมที่สามารถป้องกันการวางไข่ของแมลงวันได้ การกำจัดขยะที่ถูกต้อง
2. การใช้สารฆ่าแมลง
3. การควบคุมโดยชีววิธี
Subfamily Stomoxyinae
แมลงวันใน subfamily นี้มีลักษณะเด่นคือ proboscis ยาว และยื่นออกมาเห็นชัด เส้นปีก iv โค้งน้อยๆ เข้าหาเส้นปีก iii มี 2 species ที่มีความสำคัญทางการแพทย์ คือ Stomoxy calcitrans และ Haematobia irritans
แมลงวันคอก (Stomoxy calcitrans : Stable fly)
เป็นแมลงวันที่ชอบอาศัยอยู่บริเวณคอกสัตว์มากกว่าตามบ้านเรือน เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลกแต่พบมากบริเวณเขตร้อน สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วประเทศ และพบว่ามีจำนวนมากในฤดูร้อน
Stomoxy calcitrans มีขนาดใกล้เคียงกับแมลงวันบ้าน มีแถบสีดำ 4 แถบบนส่วนอกโดยแถบ 2 แถบด้านนอกจะขาดตอนบริเวณ suture ส่วนท้องมีสีเทาและน้ำตาลเข้ม สลับกันคล้ายตาหมากรุก ขน arista บนหนวดปล้องที่ 3 เป็นแบบหวี และมีอยู่ด้านเดียว
รูปที่ 2 แมลงวันคอก
วงจรชีวิต
ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มๆ บริเวณกองฟางที่เปื้อนอุจจาระของสัตว์เลี้ยง และบริเวณกองฟางที่อับชื้น ตัวเมียวางไข่ได้ 500-600 ฟอง ตลอดชีวิตของมัน ตัวอ่อนฟักออกจากไข่ใน 2-3 วัน ตัวอ่อนมีลักษณะหัวเล็กท้ายป้าน posterior spiracles มีช่องเล็กๆ รูปตัว S 3 ช่อง ล้อมรอบกระดุมตรงกลาง ตัวอ่อนใช้เวลา 10-14 วันจึงเจริญเต็มที่ โดยมีการลอกคราบ 3 ครั้ง แล้วจึงสร้างเปลือกหุ้มดักแด้ ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงออกจากดักแด้เป็นตัวเต็มวัย แมลงวันชนิดนี้ทั้งตัวผู้และตัวเมียดูดเลือดเป็นอาหาร ออกหากินในเวลากลางวันโดยพบมากเวลาเช้าตรู่และบ่าย แมลงวันคอกสามารถดูดเลือดมากกว่า 1 ครั้งในแต่ละวัน ตัวเต็มวันมีอายุประมาณ 1 เดือน
ความสำคัญทางการแพทย์
Stomoxy calcitrans ชอบดูดเลือดสัตว์เลี้ยง (วัว ควาย ม้า) แต่ขณะเดียวกันก็สามารถดูดเลือดคนได้ด้วย จึงจัดว่าเป็นแมลงที่มีความสำคัญทางการแพทย์และสัตวแพทย์ แมลงวันชนิดนี้ชอบหากินในบริเวณคอกสัตว์มากกว่าในทุ่ง พบว่าสามารถรบกวนทำให้สัตว์เลี้ยงผลิตน้ำนมลดลงถึง 25% แมลงวันคอกเป็นพาหะทั้งแบบ biological และ mechanical คือ
- เป็นพาหะของโรค surra ในม้า อูฐ และสุนัข ซึ่งเกิดจากเชื้อ Trypanosoma evansi
- เป็นพาหะนำโรค anthrax ซึ่งเกิดจากเชื้อ Bacillus anthracis มาสู่คนและสัตว์
- เป็นพาหะตัวกลางของพยาธิตัวกลมในของกระเพาะม้าคือ Habronema spp.
การควบคุม
ใช้หลักการเดียวกับการควบคุมแมลงวันบ้าน คือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น การนำฟาง หญ้าที่เปียกชื้น รวมทั้งเศษอาหาร ออกจากบริเวณคอกสัตว์ และการฉีดพ่นสารฆ่าแมลงบริเวณคอก และรอบๆ โรงเรือน ก็จะช่วยลดปริมาณแมลงวันคอกลงได้
Haematobia irritans
เป็นแมลงวันขนาดเล็กสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายแมลงวันคอกมาก เป็นแมลงวันที่เป็นปรสิตที่ต้องพึ่งพาปศุสัตว์ กล่าวคือ ถ้าไม่มีปศุสัตว์ก็จะไม่พบแมลงวันชนิดนี้ ทั้งตัวผู้และตัวเมียดูดเลือดเป็นอาหาร ออกหากินในเวลากลางวัน มีอยู่ 2 subspecies คือ H. irritans irritans (horn fly) พบในอเมริกาและหมู่เกาะฮาวาย และ H. irritans exigua (buffalo fly) พบในเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย
วงจรชีวิต
ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มๆ โดยวางไข่ครั้งละประมาณ 10-20 ฟอง บนมูลสัตว์ที่ถ่ายออกมาใหม่ๆ ไข่มีลักษณะยาวรีสีน้ำตาล ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ภายใน 1 วัน ตัวอ่อนมีขนาดเล็กเรียวยาว posterior spiracles มี slits คดเคี้ยวไปมาคล้ายตัวอ่อน M. domestica แต่ slits ของ Haematobia คดมากกว่า ตัวอ่อนลอกคราบ 3 ครั้ง ระยะตัวอ่อนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 5 วัน จึงเจริญเป็นดักแด้ ดักแด้ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์จึงพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยดูดเลือดวัวควายเป็นส่วนใหญ่ อาจดูดเลือดคนหรือสัตว์ที่ใกล้ชิดกับวัวควายนั้นด้วย Haematobia หากิน และผสมพันธุ์บนโฮสท์โดยอาศัยอยู่บนตัวโฮสท์เกือบตลอดเวลา ตัวเมียวางไข่ใต้กองมูลสัตว์แล้วบินกลับมาบนตัวโฮสท์อีก ตลอดชีวิตของแมลงวันวางไข่ได้ 300-400 ฟอง
ความสำคัญทางการแพทย์และสัตวแพทย์
Haematobia จำนวนมากอาศัยบนสัตว์จะทำให้สัตว์โตช้า มีการสร้างน้ำนมลดลง นอกจากนี้ยังเป็น intermediate host ของฟิลาเรียของวัวควายคือ Stephanofilaria stilesi เนื่องจาก Haematobia ไม่ค่อยเปลี่ยนโฮสท์ จึงไม่ค่อยมีความสำคัญในแง่ของการเป็น mechanical transmitter มากนัก
การควบคุม
เช่นเดียวกับ Stomoxy
Subfamily Fanniidae
เป็นแมลงวันขนาดเล็กรูปร่างคล้ายแมลงวันบ้าน arista ไม่มีขนงอกขึ้นมา เส้นปีกมีลักษณะเฉพาะคือเส้น iv มีลักษณะตรงไม่โค้งงอเหมือนในแมลงวันชนิดอื่น เว้น vi สั้น Fannia พบอยู่ 2 species คือ F. canicularis (lesser house fly) และ F. canicularis (latrine fly)
วงจรชีวิต
F. canicularis วางไข่ในขี้ไก่ ส่วน F. canicularis วางไข่ในอุจจาระที่ค่อนข้างเหลวของคนหรือหมู ตัวอ่อนมีลักษณะแบนเรียวไปทางหัว anterior และ posterior spiracles นูนเด่นมี 3 lobes F. canicularis ชอบอาศัยอยู่ในบ้านเรือนและอยู่ใกล้ชิดกับคน ส่วน F. scalaris ชอบอาศัยอยู่นอกบ้าน
ความสำคัญทางการแพทย์
Fannia พบอยู่ตามห้องน้ำห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร มักพบร่วมกับแมลงวันบ้าน มักก่อให้เกิดความรำคาญและเป็น mechanical transmitter ได้เช่นเดียวกับแมลงวันบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นสาเหตุของ intestinal myiasis ในคนซึ่งอาจเกิดจากการกินผักผลไม้ที่มีตัวอ่อนแมลงพวกนี้อยู่

การควบคุม
เช่นเดียวกับแมลงวันบ้าน

ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย