Umbilicus and abdominal wall abnormalities

สะดือ คือแผลเป็นหลังจากที่สายสะดือ (umbilical cord) หลุดไปแล้วหลังคลอด ความผิดปกติในบริเวณนี้ จึงอาจเกิดจาก ส่วนประกอบของสายสะดือ ในขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ เช่น จาก urachus, vitelline duct, umbilical ring และหลอดเลือด

Omphalitis
การอักเสบของสะดือ พบได้บ่อย โดยเฉพาะในระยะแรกคลอด ถ้าอนามัยไม่ดีพอ เชื้อส่วนใหญ่เป็น Staphylococcus และ Streptococcus สะดือมีลักษณะบวมแดง สะดือแฉะ ควรรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ และเช็ดสะดือให้แห้ง และอาจให้ยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ร่วมด้วย ในเด็กแรกคลอดที่มีบวมแดงรอบๆ สะดือ โดยที่สะดือปกติ ควรคำนึงถึงภาวะติดเชื้อในช่องท้อง ปัญหา omphalitis อาจชักนำให้เกิดการติดเชื้อใน portal vein และตามด้วย thrombosis
Umbilical granuloma

เกิดจากการอักเสบเรื้อรังที่สะดือ โดยมี granulation tissue หลงเหลืออยู่ เป็นลักษณะเนื้อแดงๆ หรือเป็นก้อนกลางสะดือ ทำให้สะดือแฉะอยู่ตลอดเวลา ลักษณะ discharge อาจมีเลือดปนเล็กน้อย

ควรรักษาโดยจี้ด้วย silver nitrate หรือไฟฟ้า ถ้าเป็น granuloma ที่ยื่นโผล่ออกมา อาจใช้วิธีผูกที่ขั้ว เพื่อให้หายเร็วขึ้น ถ้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าวหลายครั้งแล้วยังไม่หาย ควรคำนึงถึงพยาธิสภาพอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีช่องต่อกับ อวัยวะภายใน

Umbilical polyp

เป็นก้อนที่สะดือ อาจเป็น overgrowth ของ granulation tissue หรือเป็น mucosa ซึ่งเกิดจากการคงอยู่ของส่วนปลายของ vitelline duct (amphalomesenteric duct) บางรายอาจมี fibrous band ยึดระหว่างสะดือกับ Meckel's diverticulum หรือกับลำไส้เล็กเอง ส่วนมากจะเกิดเนื่องจาก granulation จึงรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า แต่ต้องวิเคราะห์ให้แน่ใจ ว่าไม่มีช่องทางติดต่อกับอวัยวะภายใน

ในระยะแรก ควรรักษาโดยดันเอาลำไส้กลับเข้าไปภายในช่องท้อง และผูกรัดโคนของสายสะดือ เมื่อสะดือหายดีแล้ว ปัญหาส่วนมากก็จะหมดไปเอง ภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้น คือไม่ได้วินิจฉัยขณะตัดสะดือ ทำให้ผูกและตัดเอาส่วนของลำไส้ ออกไปด้วย

Omphalocele

เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด ระหว่างการเจริญเติบโตของ body stalk และ umbilical ring เด็กแรกคลอดจึงมีลำไส้ เลื่อนออกมา ผ่าน umbilical ring และปรากฏเป็นก้อนที่หน้าท้อง โดยมี peritoneum และ amniotic membrane บางๆ หุ้มลำไส้อยู่ ทำให้มองเห็นลำไส้ที่อยู่ภายใน กลุ่ม omphalocele มักพบตับยื่นออกมาภายนอกช่องท้องด้วย สายสะดือจะยึดติดกับเนื้อเยื่อตรงยอดของก้อน เยื่อหุ้มลำไส้อาจจะแตก และเป็นผลให้ลำไส้โผล่ออกมาภายนอก

การผ่าตัดรักษา ขึ้นอยู่กับขนาดของ omphalocele เยื่อหุ้มแตกหรือไม่ และสภาพทั่วไปของเด็ก ในรายที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ซม. ควรพิจารณาทำผ่าตัดได้เลย โดยดันลำไส้กลับเข้าช่องท้อง และเย็บปิดผนังหน้าท้อง ในรายที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ซม. และดันลำไส้กลับไม่ได้ ควรทำ delayed operation เพราะการดันลำไส้เข้าไปทั้งหมด อาจทำให้เกิดปัญหาในการหายใจ ขณะรอผ่าตัด ควรใช้ผ้าทำแผลชุบยาฆ่าเชื้อ เช่น Pevidine ปิดคลุมเยื่อหุ้ม และรอให้มี cicartrization ของเยื่อหุ้มจากขอบ เมื่อเด็กโตขึ้นแล้ว จึงแก้ไขผ่าตัด ventral hernia ทีหลัง หรืออาจใช้ artificial sac หุ้มคลุมไว้ชั่วคราว แล้วค่อยๆ ดันลำไส้ กลับคืน ภายใน 7 วัน จึงเย็บปิดผนังหน้าท้อง ในกรณีที่เยื่อหุ้มแตก ควรทำผ่าตัดทันที เพื่อป้องกันปัญหาการขาดน้ำ และเกลือแร่ และภาวะติดเชื้อ ทารกที่เป็นโรคนี้ มักจะมีโรคหัวใจ โรคไต หรือความพิการแต่กำเนิดของระบบอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย จึงทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

Gastroschisis

เป็นความพิการแต่กำเนิด โดยมีผนังหน้าท้องส่วนกลางแยกจากกันเป็นช่องโหว่ ทำให้ลำไส้และอวัยวะภายใน ออกมาอยู่นอกช่องท้อง โดยไม่มี sac หุ้มลำไส้อย่างเช่น omphalocele ส่วนสะดือและสายสะดือ ยังมีลักษณะปกติ และส่วนมากติดกับด้านซ้ายของหน้าท้อง ลำไส้ที่โผล่ออก อาจมี fibrin จับอยู่ที่ผิว จนลำไส้ติดกันเป็นก้อน เนื่องจากแช่อยู่ในน้ำคร่ำ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่เชื่อว่าอาจเกิดจาก การแตกของ hernia ของ umbilical cord ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ เด็กที่เป็น gastroschisis อาจมี intestinal atresia หรือความพิการอื่นๆ ของระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย แต่ไม่ค่อยพบความพิการของระบบอื่นๆ

การดูแลรักษาก่อนผ่าตัด มีความสำคัญมาก เพราะเด็กพวกนี้เสียความร้อน น้ำ และเกลือแร่ จากลำไส้ที่โผล่ออก นอกร่างกาย และยังเกิดภาวะติดเชื้อได้บ่อย ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น ปิดคลุมลำไส้และสวมถุงพลาสติกขนาดใหญ่ทับอีกชั้น ไม่แนะนำให้ใช้ elastic bandage พันทับ เพราะลำไส้เกิดการบิดพับ กดกับขอบช่องโหว่ และเน่าตายได้ ให้น้ำเกลือ ร่วมกับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ก่อนทำการผ่าตัด
การผ่าตัดรักษามี 3 วิธี

1. Primary closure
เป็นการเย็บผนังช่องท้องเข้าหากัน หลังจากดันลำไส้กลับเข้าไปแล้ว วิธีนี้เหมาะสำหรับรายที่ลำไส้ออกมาไม่มาก และช่องท้องเจริญเติบโตได้ดีพอสมควร ข้อเสียคือ ถ้าผนังหน้าท้องที่ถูกเย็บเข้าหากันตึงมาก ลำไส้ที่ถูกดันกลับเข้าไป จะเบียดดันกะบังลม ทำให้หายใจลำบาก รวมทั้งอาจกดหลอดเลือดดำใหญ่ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ขาบวม และหัวใจวายได้
2. Skin closure
เป็นการเลาะผิวหนังจากผนังหน้าท้องด้านข้าง เพื่อเย็บปิดคลุมลำไส้ที่โผล่ออกมา ซึ่งทำได้ง่ายกว่าเย็บ sheath ปิดเข้าหากัน แต่ในระยะต่อมา ต้องนำเด็กที่มี ventral hernia นี้ มาผ่าตัดแก้ไขอีกครั้ง เมื่อเด็กโตขึ้น
3. Artificial sac covering

ใช้ถุงประดิษฐ์หุ้มลำไส้ที่โผล่ และเย็บขอบถุงให้ติดกับผนังหน้าท้องรอบรูโหว่ ต่อมาจึงดันลำไส้กลับเข้าไป ในช่องท้อง ทีละน้อย โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 7 วัน ก่อนจะดันกลับเข้าไปได้หมด หลังจากนั้นจึงนำผู้ป่วยมาผ่าตัดปิดช่องโหว่อีกครั้ง วิธีนี้มีปัญหาการหายใจน้อย เพราะลำไส้ถูกดันกลับทีละน้อย ความดันภายในช่องท้องจึงไม่สูงมาก แต่การใช้วัตถุประดิษฐ์ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างสูง

หลังผ่าตัด ควรดูแลเรื่องการหายใจเป็นพิเศษ ถ้าหน้าท้องตึงมาก ควรใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะแรก ควรดูแลระบบการไหลเวียนเลือดด้วย เพราะลำไส้อาจไปกด inferior vena cava และทำให้เลือดระบายกลับหัวใจลดลง ควรให้ยาปฏิชีวนะต่อหลังผ่าตัด และระวังภาวะติดเชื้อในถุงประดิษฐ์ และในช่องท้อง ลำไส้อาจไม่ทำงานอยู่นานหลังผ่าตัด ฉะนั้นควรพิจารณาให้อาหารทางหลอดเลือดดำ จนกว่าจะสามารถให้อาหารทางปากตามปกติได้ พบว่าผลการรักษา gastroschisis ดีกว่า omphalocele ซึ่งมีความพิการแต่กำเนิดของระบบอื่นๆ ร่วมด้วยมาก


References
1.

Irving IM. Umbilical abnormalities. In : Lister J, Irving IM, eds. Neonatal surgery, 3rd edition. Butterworth, London, 1990 ; 376-402.

2.

Schuster SR. Omphalocele and gastroschisis. In : Welch KJ, Randolph JG, Ravitch MM, O"neill JA, Rowe MI, eds. Pediatric surgery. 4th edition. Year book medical publishers 1986 ; 740-763.

3.

Soottiporn Chittmittrapap, Mondragon R, KC Tan. Reduction and local care of the artificial sac in gastroschrisis and large omphalocele a new technique. Ped Surgery International 1992 ; 7 : 240-1.

4.

เอกพล พงศ์มานะวุฒิ, สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ, พิทยา จันทรกมล. การศึกษาย้อนหลัง 12 ปี ในผู้ป่วย แก๊สตรอสคิซิสและออมฟาโลซีลที่รักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. จุฬาลงกรณ์เวชสาร 2533 ; 34 (1) : 41-8. 1.


Copyright (c) Chulalongkorn University